เป็นศาสนสถานตามคติศาสนาฮินดู ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนยอดหักพังลงหมด รูปแบบทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรมศิลาที่เป็นรูปเคารพเปรียบเทียบได้กับศิลปะในสมัยนครวัต (ราว พ.ศ. 1650-1720) จัดเป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเมืองสุโขทัย
บริเวณเมืองสุโขทัยเก่า ก่อน พ.ศ.1800 เคยมีร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรจากศูนย์กลางในกัมพูชาอยู่อย่างชัดเจน ได้แก่โบราณวัตถุสถานที่พบอยู่ทั่วไป เช่นตัวเมืองโบราณคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมที่มีวัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลาง ตั้งอยู่ติดชิดกับเมืองสุโขทัยขึ้นไปทางเหนือเล็กน้อย อีกทั้งจารึกหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) ก็กล่าวถึงเรื่องย้อนหลังในช่วงต้นสมัยสุโขทัยที่มีเหตุการณ์รบพุ่งกับ ขอมสมาดโขลญลำพง และการได้รับอภิเษกของพ่อขุนผาเมืองจาก“ผีฟ้าเมืองศรีโสธรปุระ” ซึ่งล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับศูนย์กลางของเขมรในลุ่มทะเลสาบของกัมพูชาทั้งสิ้น
ภายในเมืองเก่าสุโขทัยทางทิศเหนือ มีศาลตาผาแดง เป็นปราสาทแบบเขมรก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ ส่วนยอดพังทลายไปแล้วเหลือแต่ส่วนห้องที่เคยประดิษฐานรูปเคารพกับมุขทางเข้าที่เชื่อมต่อหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแบบศาสนสถานทั่วไป
ที่นี่ได้เคยพบกลุ่มประติมากรรมรูปเทวดาสลักจากหินทราย แม้ชำรุดส่วนหัวและมือหักหายแต่สังเกตได้จากการตกแต่งเครื่องประดับที่เป็นสังวาลย์ไขว้รูปกากบาทและการนุ่งผ้าที่ชักชายยาวออกมาด้านข้างที่นักวิชาการเทียบว่าคล้ายกับรูปบุคคลในศิลปะเขมรแบบบายน ช่วง พ.ศ.1750 จึงอาจกำหนดอายุสมัยของโบราณสถานแห่งนี้ได้ในพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของกัมพูชาโบราณ
โบราณสถานแห่งนี้น่าจะเคยมีชื่อเรียกมาก่อนที่รู้จักกัน เช่น พระมหาสมณเจ้า สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเรียกว่า โคกปราสาท ซึ่งชาวบ้านเมืองเก่าสมัยนั้นเชื่อถือความศักดิ์สิทธิ์กันมาก และในเอกสารเก่าๆที่บันทึกรุ่นรัชกาลที่ 5-6 มักเรียกกันว่า ศาลตาผ้าแดงบ้าง ศาลพระประแดงบ้าง จนกลายมาเป็นศาลตาผาแดงในปัจจุบัน
คำคำนี้น่าจะเป็นคำที่เลือนมาจากชื่อ กมรเตง ที่หมายถึง “เจ้า” ในภาษาเขมร และพบในจารึกเขมรโบราณจำนวนมากที่กล่าวถึง กมรเตง ในฐานะชื่อสถาปนาของรูปเคารพในศานาฮินดู (ซึ่งก็เป็นตัวแทนของกษัตริย์เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว) และตำแหน่งของขุนนางชั้นสูงอีกด้วย ยังมีคำว่า ประแดง ที่หมายถึงข้าราชการบางตำแหน่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งสืบมาจากคำเขมรเช่นเกียวกัน และชื่อดังกล่าวยังพบอยู่ในชื่อเมืองโบราณบางแห่งที่เคยมีร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรอยู่ เช่น เมืองพระประแดง ที่สมุทรปราการ ซึ่งในสมัยอยุธยาได้เคยขุดพบเทวรูปเมื่อได้ชำระคลองสำโรง เป็นต้น
ดังนั้น ชื่อของศาลตาผาแดงจึงสื่อถึงความเป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่ เกี่ยวข้องกับความเชื่อแบบพราหมณ์-ฮินดูของเขมร อันเป็นรอยต่อทางประวัติศาสตร์ช่วงที่อำนาจของอาณาจักรกัมพูชาโบราณที่เข้ามาตั้งมั่นในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีละโว้หรือลพบุรีเป็นฐานที่มั่นและกำลังแผ่ขึ้นไปมาทางตอนบนของภาคกลางแถบลุ่มน้ำยม ก่อนเสื่อมสลายไปในราว พ.ศ.1750 เป็นต้นมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น